วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คุณค่าของการทำอิบาดะฮฺในคืนลัยละตุลก็อดรฺ





عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ عَنِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : «مَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ».  (البخاري رقم 1768، مسلم رقم 1268)
ความว่า จากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า ผู้ ใดที่ลุกขึ้น(ละหมาดกลางคืนและประกอบอิบาดะฮฺอื่นๆ)ในคืนลัยละตุลก็อดรฺ ด้วยเปี่ยมศรัทธาและความหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิดบาปที่ผ่านมาของเขา   (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1768 และมุสลิม หมายเลข 1268)

คำอธิบาย

            อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า เหตุที่ตั้งชื่อว่าเป็นคืน อัล-ก็อดรฺ  เพราะว่าในคืนนั้นบรรดามะลาอิกะฮฺจะเขียนเกาะดัรฺ(สิ่งที่อัลลอฮฺกำหนด)ต่างๆ ไม่ว่าสิ่งที่เกี่ยวกับริสกี(ปัจจัยและโชคลาภ) รวมถึงอะญัล(อายุขัย)ของมวลมนุษย์ในปีนั้นๆ
บางท่านกล่าวว่า เนื่องจากสถานภาพและความทรงเกียรติของค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ
และบรรดาอุละมาอ์มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺจะปรากฏตลอดไปจนถึงวันกิยามะฮฺ
            ท่าน อัล-กอ ฎีย์ อิยาฎ กล่าวว่า บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่ไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับค่ำคืน ลัยละตุลก็อดรฺ บางท่านมีทัศนะว่า ค่ำคืนดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงในเดือนเราะมะฎอน จากปีหนึ่งไปยังอีกปีหนึ่ง (หมายถึงมีการเลื่อนและไม่ตรงกันทุกปี)

บทเรียนจากหะดีษ
1.      กล่าวถึงความประเสริฐของผู้ที่ประกอบอะมัลอิบาดะฮฺในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ
2.      ส่งเสริมให้มีการกิยาม (การละหมาดกลางคืนและการประกอบอิบาดะฮฺต่างๆ) ในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ
3.      การปฏิบัติกิยามในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺต้องกระทำเพื่อสนองตามคำสั่งของอัลลอฮฺเท่านั้น  และมีความเชื่อมั่นในสัญญาผลตอบแทนที่จะได้รับ และต้องปราศจากการโอ้อวดอื่นๆ
4.      ผลตอบแทนสำหรับผู้ที่ประกอบอิบาดะฮฺตรงกับคืนลัยละตุลก็อดรฺ ก็คือ จะได้รับการอภัยโทษในบาปทั้งหลายที่ผ่านมา และผลบุญอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น