วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การดูเดือน : ศาสตร์แห่งการดูเดือน โดย Syed Khalid Shaukat แก้ไขโดย Qamar Uddin ศิระ นวนมี แปลไทย

        

นี่คือความพยายามที่จะนำเสนอเรื่องราวของศาสตร์แห่งการดูเดือนให้มีความ ชัดเจน และเพื่อที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูเดือนที่มีอยู่โดยทั่วไปให้ เป็นที่กระจ่างขึ้นในบางประการ

องค์ประกอบหลักของการมองเห็นเดือน
ผู้ คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อมโยงโอกาสที่จะมองเห็นเดือนกับอายุของเดือน โดยแท้จริงแล้วอายุของเดือนนั้นได้แก่เวลาที่ผ่านไปนับตั้งแต่เกิด ปรากฏการณ์จันทร์ดับ(new moon) แต่การก่อรูปของจันทร์เสี้ยวนั้นขึ้นอยู่กับการแยกตัวทำมุม ขณะที่ดวงจันทร์แยกออกจากดวงอาทิตย์ตามภาพที่มองเห็นจากโลก จากจันทร์ดับที่เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป ดวงจันทร์จะโคจรไปเรื่อยๆ แต่จะไปได้ช้ากว่าดวงอาทิตย์ เพราะการหมุนรอบตัวเองของโลก ในลักษณะนี้จึงทำให้เกิดการแยกตัวทำมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และก่อให้เกิดจันทร์เสี้ยวขึ้นมา ภาพที่แสดงอยู่ด้านล่างคงจะช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น
ภาพที่ 1 แสดงภาพของดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์และโลก โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ตามวิถีโคจรในรูปวงรี มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ส่วนดวงจันทร์เองก็โคจรรอบโลกในลักษณะเดียวกัน เมื่อมีจันทร์ดับ(new moon)เกิดขึ้น ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์และโลกเคลื่อนมาอยู่บนเส้นเดียวกันตามที่ปรากฏอยู่ในภาพ ในปรากฏการณ์นี้ แสงของดวงอาทิตย์ที่ตกลงบนดวงจันทร์จะไม่สามารถทะลุผ่านมายังโลก ดังนั้น มันจึงเป็นดวงจันทร์ที่ดำมืดไปหมด หรือเป็นดวงจันทร์ที่มองไม่เห็น หลังจากเกิดจันทร์ดับไปแล้ว 18-24 ชั่วโมง ดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเส้นที่ลากระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ไปยังตำแหน่งใหม่ ตามภาพตำแหน่งนั้นเรียกว่าตำแหน่งของจันทร์เสี้ยว ในตอนนี้ ดวงจันทร์จะแยกตัวออกจากเส้น มุมที่ล้อมด้วยดวงอาทิตย์, โลกและดวงจันทร์นั้นเรียกว่า “การแยกตัวทำมุม” การแยกตัวทำมุมนี้เป็นเหตุให้จันทร์เสี้ยวก่อตัวขึ้น ในช่วงที่มุมยังไม่เกิน 7 องศา ภูเขาบนพื้นผิวของดวงจันทร์ยังสามารถบดบังแสงอาทิตย์เอาไว้ได้ แสงอาทิตย์ที่ดวงจันทร์สะท้อนออกมาจึงไม่มายังโลก ถ้ามุมกว้างขึ้นเป็น 10-12 องศา ดวงจันทร์จึงจะสะท้อนแสงอาทิตย์ออกมา ก่อรูปเป็นจันทร์เสี้ยวบางๆ ที่สามารถมองเห็นได้ บางครั้งจันทร์เสี้ยวบางมากและอยู่เหนือขอบฟ้าเพียงนิดเดียว จะไม่สามารถมองเห็นจันทร์เสี้ยวได้ เพราะมันจะหายไปในท่ามกลางแสงเจิดจ้าของดวงอาทิตย์ ถึงแม้จะค้างอยู่บนขอบฟ้านานถึง 20-30 นาทีหลังดวงอาทิตย์ตกไปแล้วก็ตาม

องค์ ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งนั้นได้แก่ความสูงของดวงจันทร์เหนือเส้นขอบฟ้า แม้ดวงจันทร์จะหนาเพียงพอ แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่เหนือเส้นขอบฟ้า เราก็ยังคงมองไม่เห็น ปรากฏการณ์นี้มีอยู่ในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมในสหราชอาณาจักร/สหรัฐ อเมริกา ในระหว่างที่ดวงจันทร์อยู่ในซีกโลกใต้ ดังนั้นเมื่อมองมาจากซีกโลกเหนือ จะมองไม่เห็น และแม้ดวงจันทร์จะอยู่เหนือเส้นขอบฟ้า แต่อยู่ใกล้เส้นขอบฟ้าเกินไป จนตกอยู่ท่ามกลางแสงเจิดจ้า ในภาวะเช่นนี้จะมองดวงจันทร์ไม่เห็น มีอีกลักษณะหนึ่ง คือถ้าจันทร์เสี้ยวอยู่สูงเพียง 10 องศา ตามปกติแล้วจะมองไม่เห็น เราจะมองเห็นจันทร์เสี้ยวได้จากท้องที่ต่างๆ หรือไม่ ปัจจัยกำหนดต่อไปนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง :

1. ดวงจันทร์แยกตัวทำมุมกับดวงอาทิตย์เมื่อมองจากโลก (ปรากฏการณ์นี้ยังเรียกว่า elongation หรือความโค้งของแสง หรือเรียกง่ายๆ ว่ามุมจากดวงอาทิตย์)
2. ความสูงของดวงจันทร์เหนือเส้นขอบฟ้า

ยัง มีข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์อีกประการหนึ่งที่ควรรู้ ถ้ามองเห็นดวงจันทร์ได้จากท้องที่ใดท้องที่หนึ่งในโลก ท้องที่ต่างๆ ที่อยู่ทางด้านตะวันตกของจุดนั้น (ที่อยู่ภายในพาราโบร่าของพื้นที่ที่สามารถมองเห็นเดือน หรือ visibility parabola)ก็จะมองห็นดวงจันทร์ได้ง่ายมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม เราได้ยินข่าวว่ามีการเห็นเดือนในตะวันออกกลาง และในตอนเย็นวันเดียวกันนั้น ดินแดนต่างๆ ในอัฟริกาตะวันตก และในอเมริกาเหนือในช่วงอีก 3-8 ชั่วโมง กลับมองไม่เห็นดวงจันทร์ทั้งๆ ที่ท้องฟ้าแจ่มใส เรื่องอย่างนี้ค้านกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์อันเป็นที่รู้กัน ถ้ามีเรื่องในทำนองนี้เกิดขึ้น บอกได้เลยว่าสิ่งที่มองเห็นในตะวันออกกลางนั้นไม่ใช่ดวงจันทร์ ในยุคของเทคโนโลยีนี้ นักดาราศาสตร์มุสลิมปัจจุบันอยู่ในสถานะที่สามารถคำนวณวันสำหรับการดูเดือน ออกมาได้ว่ามีความเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น คำอ้างเรื่องการดูเดือนจะถูกต้องเพียงใดนั้น สามารถพิสูจน์ได้ง่ายๆ เพื่อให้การดูเดือนนั้นถูกต้อง

ต่อไปนี้คือความเข้าใจผิดทั่วๆ ไปเกี่ยวกับการดูเดือนที่ผู้คนพูดถึงกัน

ความเข้าใจผิด 1 :
ดวงจันทร์วันที่ 29 มักจะบาง และดวงจันทร์วันที่ 30 จะหนา


แท้ ที่จริงแล้ว เป็นไปได้เป็นอย่างยิ่งที่ดวงจันทร์วันที่ 30 ของเดือนหนึ่งจะมีความหนาพอๆ กับดวงจันทร์วันที่ 29 ของเดือนอื่นๆ เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ง่ายขึ้นโดยอาศัยภาพที่ 2
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกตามวิถีโคจรในรูปวงรี ดังนั้น บางครั้งดวงจันทร์จะเข้ามาใกล้โลก และบางครั้งมันจะเคลื่อนไปไกลจากโลก ในภาพที่ 2 รูปทางด้านซ้ายมือเป็นตัวอย่างของดวงจันทร์วันที่ 29 ของเดือนหนึ่ง ขณะที่มันโคจรเข้ามาใกล้โลกและมีอายุ 20 ชั่วโมง ส่วนรูปทางด้านขวามือแสดงดวงจันทร์วันที่ 30 ของอีกเดือนหนึ่ง ขณะที่มันอยู่ไกลโลกและมีอายุ 25 ชั่วโมง สำหรับผู้สังเกตดวงจันทร์จากโลก จะเห็นว่าจันทร์เสี้ยวของทั้งสองมีความหนาพอๆ กัน

ความเข้าใจผิด 2 :
ดวงจันทร์วันที่ 29 ตกในเวลาอันสั้น ขณะที่ดวงจันทร์วันที่ 30 จะค้างอยู่บนท้องฟ้าได้นานกว่า


นี่ คือเรื่องลมๆ แล้งๆ อีกเรื่องหนึ่งซึ่งสามารถเข้าใจได้ตามภาพที่ 3 เส้นขอบฟ้าตามภาพเป็นเส้นขอบฟ้าของผู้ดูดวงจันทร์จากผิวโลก รูปทางด้านซ้ายมือแสดงดวงจันทร์วันที่ 29 ของเดือนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้า แต่เคลื่อนไปตามทางลาดเอียงและตกลับขอบฟ้าไปในที่สุด รูปทางด้านขวามือแสดงดวงจันทร์วันที่ 30 ที่อยู่อีกตำแหน่งหนึ่งเหนือเส้นขอบฟ้าสูงขึ้นไปอีกเล็กน้อย แต่เคลื่อนลงไปในแนวตั้ง และใช้เวลาเพียงเล็กน้อยก็สามารถลงไปอยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้า ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับรูปทางด้านซ้ายมือได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องนักที่จะกล่าวว่าดวงจันทร์วันที่ 30 ค้างอยู่บนท้องฟ้าได้นานกว่า
ความเข้าใจผิด 3 :
ดวงจันทร์ที่หนาและอยู่เหนือเส้นขอบฟ้าได้นานกว่า แสดงว่าจะต้องเป็นดวงจันทร์วันที่ 2


นี่ คือข้อโต้แย้งธรรมดาๆ มาก ที่เราได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เรื่องนี้สามารถเข้าใจได้ตามภาพที่ 4 ถ้าในวันที่ 29 ดวงจันทร์ในขณะที่ดวงอาทิตย์ตกมีอายุ 18 ชั่วโมง และปรากฏอยู่สูงกว่าแสงเจิดจ้าของดวงอาทิตย์ ในวันนั้นอาจจะมองเห็นได้ แต่จะมีลักษณะบางเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าดวงจันทร์อายุ 18 ชั่วโมงในวันที่ 29 อยู่ต่ำมากจนใกล้เส้นขอบฟ้า ในวันนั้นจะมองไม่เห็น ครั้นถึงวันที่ 30 มันจะมีอายุ 42 ชั่วโมง ดูหนาขึ้นและปรากฏอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลานาน แต่เมื่อวันก่อน เรายังมองไม่เห็นมัน!
ในภาพที่ 4 รูปทางด้านซ้ายมือคือดวงจันทร์วันที่ 29 ในยามที่มันมีอายุ 18 ชั่วโมง มองยังไม่เห็นเพราะมันอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้ามากเกินไป มันหายไปในท่ามกลางแสงเจิดจ้าของดวงอาทิตย์ ในวันถัดไป(จากรูปทางด้านขวามือของภาพที่ 4) ดวงจันทร์มีอายุ 42 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นมันจึงค่อนข้างหนา และปรากฏอยู่เหนือแสงเจิดจ้าของดวงอาทิตย์ มันจึงปรากฏอยู่เหนือเส้นขอบฟ้าเป็นเวลานาน แต่มันเป็นจันทร์เสี้ยววันแรก เพราะมองไม่เห็นในวันก่อน

ความเข้าใจผิด 4 :
ดวงจันทร์มีด้านมืด


คุณคงเคยได้ ยินวลีที่ว่า “ด้านมืดของดวงจันทร์” มาหลายต่อหลายครั้งแล้ว ประชาชนมักเข้าใจว่าดวงจันทร์ด้านที่อยู่ไกลออกไปจากตัวเรานั้นเป็นด้านมืด ของดวงจันทร์ และด้านมืดนั้นหันมาทางเราในเวลาที่เกิดจันทร์ดับ แต่เรื่องมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ด้านของดวงจันทร์ที่หันมายังโลกเป็นหน้าเดียวกันอยู่เช่นเดิม บางครั้งสว่าง และบางครั้งก็มืด ดวงจันทร์ใช้เวลา 27 วัน 7 ชั่วโมงและ 43 นาทีในการหมุนรอบแกนของตัวเอง นอกจากนี้ดวงจันทร์ยังใช้เวลาเท่าๆ กันในการโคจรรอบโลก การที่ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองไปด้วย และขณะเดียวกันก็ต้องหมุนรอบโลกไปด้วย ทำให้ด้านของดวงจันทร์ที่หันมายังโลกเป็นด้านเดียวอยู่เช่นเดิม สำหรับเราที่อยู่บนโลก ดวงจันทร์จะสว่างเต็มที่ในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง และจะมืดเต็มที่เมื่อเกิดจันทร์ดับ และจะสว่างเป็นบางส่วนในระหว่างปรากฏการณ์ทั้งสอง

ความเข้าใจผิด 5 :
เดือนครบ 30 วันติดต่อกันสามเดือนเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นไปไม่ได้


(ใน สหรัฐอเมริกา) ปรากฏการณ์ที่เดือนครบ 30 วันติดต่อกันนาน 3 เดือนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เป็นอย่างยิ่ง และไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ความจริงเดือนครบ 30 วันติดต่อกันนาน 4 เดือนยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ก็หาได้น้อยครั้งมาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีการขยายมัฏละอฺ(ขอบฟ้า)ให้ครอบคลุมทั่วทั้ง 48 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา โดยรวมเป็นมัฏละอฺเดียว คณะกรรมเฝ้าสังเกตุจันทร์เสี้ยว(Committee for Crescent Observation หรือ CFCO) เมืองไอทาค้า นิวยอร์คได้ตีพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับการดูเดือนสำหรับพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จัดพิมพ์เดือนละครั้งโดยพิมพ์ต่อเนื่องมาเป็นเวลาสองทศวรรษ คณะกรรมการยืนยันว่าปรากฏการณ์ที่เดือนปกติ 29 วันเกิดติดต่อกันนาน 3 เดือน และปรากฏการณ์ที่เดือนครบ 30 วันติดต่อกันนาน 4 เดือนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในสหรัฐอเมริกา

ความเข้าใจผิด 6 :
ดวงจันทร์เต็มเดือนปรากฏขึ้นในคืนวันที่ 14


ความ คิดนี้ไม่ถูกต้องเช่นกัน ดวงจันทร์เต็มดวงจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาชั่วประเดี๋ยว ในขณะที่โลกอยู่ระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์บนแนวตั้งฉากเดียวกัน ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในชั่วขณะไหนก็ได้ ทั้งในช่วงกลางวันหรือกลางคืน เพราะฉะนั้น ในเดือนหนึ่งมันจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีดวงจันทร์เต็มดวงเกิดขึ้นในเวลา 7:00 น. ดวงจันทร์นี้อาจจะสว่าง 99% ในช่วงกลางคืน แล้วครอบ 100% ในเวลาตอนเช้า แล้วลดลงเหลือสว่างเพียง 99% ในช่วงคืนถัดไป ดวงจันทร์ดังกล่าวจะดูเสมือนเป็นจันทร์เต็มดวงในสายของผู้เฝ้าสังเกตในช่วง สองคืน สองคืนเหล่านี้อาจจะเป็นวันที่ 13 และ 14 หรือ 14 และ 15 ทั้งนี้ขึ้นตำแหน่งที่ตั้งบนโลก และเวลามาตรฐานสากลขณะเกิดจันทร์ดับ
เพื่อ ที่จะเริ่มเดือนอิสลามให้ถูกต้อง เราจะต้องตรวจสอบรายงานการดูเดือนตามบทบัญญัติที่พระองค์อัลลอฮฺ สุบหฯ ได้ทรงให้ไว้กับเรา ขออัลลอฮฺ สุบหฯ ได้ทรงเปิดหัวใจและจิตใจของเราให้เข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดูเดือน เหล่านี้ ขอให้เราวิงวอนต่ออัลลอฮฺ พระผู้ทรงเกรียงไกร ให้พระองค์นำเราไปสู่หนทางอันเที่ยงตรง ให้ทรงอภัยในความผิดพลาดของเรา และให้พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกันในวิถีทางที่พระองค์ทรงโปรดปราน อามีน


เกี่ยวกับผู้เขียน/บรรณาธิการ

1. Syed Khalid Shaukat (ซัยยิด คอลิด เชากัต)อยู่ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์มุสลิม เชี่ยวชาญวิชาคณิตศาสตร์, การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และดาราศาสตร์ นอกจากนี้ เขายังเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเป็นเวลา 7 ปี ทำให้เขาได้ศึกษาภาษาอาหรับ, อิสลามศึกษา, ตัจญ์วีด, ตัฟซีรฺ, หะดีษและฟิกฮฺ เขาเป็นที่ปรึกษาสภาฟิกฮฺแห่งอมเริกาเหนือ ในงานทางด้านการดูเดือนและการกำหนดกิบละฮฺ นอกจากนี้เขายังเป็นที่ปรึกษาให้กับสภาชูรออิสลามแห่งอเมริกาเหนือ (ซึ่งประกอบด้วยองค์กรอิสลามที่สำคัญ 4 องค์กร ได้แก่ ISNA, ICNA, Ministry of W. Deen Mohammad และ Jamaat Community of Imam Jamil Al-Amin)

2. Qamar Uddin (เกาะมารุดดีน) อยู่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์มุสลิม เชี่ยวชาญวิศวกรรมอีเล็กโทรนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เขาเคยทำงานให้กับหน่วยงานรัฐบาลอังกฤษในฐานะนักวิทยาศาสตร์วิจัย(Research Scientist)เป็นเวลา 12 ปี เขาจบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าในปี ค.ศ. 1986 จากมหาวิทยาลัยใหญ่แห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร และมีบทบาทอย่างแข็งขันในงานดะอฺวะฮฺอิสลามในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เพราะผลลัพธ์ของงานดะอฺวะฮฺของเขา ทำให้เขาติดต่อกับอุละมาอฺหลายท่านทั่วโลกอยู่เสมอมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น