วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เตรียมตัวต้อนรับเดือนรอมดอน เดือนสำคัญของมุสลิม


            เดือนรอมฎอน(شَهْرُ رَمَضَانَ) เป็นเดือนลำดับที่ 9 ของเดือนทางจันทรคติตามปีศักราชอิสลาม อัลลอฮฺ์ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลา ทรงกำหนดให้เดือนรอมฎอน เป็นฤดูหรือเทศกาลสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจ
     นักวิชาการผู้ชำนาญการด้านประวัติศาสตร์อิลามส่วนมากระบุตรงกันว่า การถือศิลอดเดือนรอมฎอนนั้นถูกกำหนดให้เป็นฟัรฎู(กิจบังคับ) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เดือนชะอฺบานตรงกับปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 2 นักวิชาการหลายท่านอธิบายว่า ในอดีตก่อนกำหนดศิลอดฟัรฎูในเดือนรอมฎอนนั้น ท่านรอซูลใช้ให้เหล่าสาวกถือศิลอด ในวันอาชูรออฺเพียงวันเดียว(แบบฟัรฎู) ต่อจากนั้นได้ยกเลิกการถือศิลอดวันอาชูรออฺ โดยเหลือเพียงแค่เป็นซุนนะฮ์ และให้ถือศิลอดเดือนรอมฎอนแทน เป็นวาระๆ กล่าวคือ แรกที่เดียวที่กำหนดให้ถือศิลอดเดือนรอมฎอนนั้น ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นภารกิจที่หนักเอาการ ท่านรอซูลุลลออ์จึงอนุโลมให้ชั่วระยะหนึ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมและไม่ประ สงค์ถือศิลอด ให้ไม่ต้องถือศิลอดได้แต่ต้องชำระอาหารเป็นการทดแทน(คือ เปิดโอกาสให้เลือกเองว่าจะถือศิลอดหรือไม่ถือ)อัลลอฮฺ์ทรงมีรับสั่งว่า
          “และให้เป็นหน้าที่แก่บรรดาผู้ที่ถือศิลอดด้วยความลำบาก (โดยเลือกที่จะงดการถือศิลอดตามปกติ) ต้องชดเชยด้วยการจ่ายอาหารหนึ่งมื้อแก่ผู้ยากจนหนึ่งคน” บทอัลบะกอเราะฮ์โองการที่ 184
     ซึ่งครั้งนี้อัลกุรอานได้เน้นและส่งเสริมให้เลือกการถือศิลอด และระบุว่าการถือศิลอดมีความดีมากว่า อัลลอฮ์ทรงมีรับสั่งว่า
          “หากแต่ผู้ใดอาสาสมัครใจทำสิ่งที่ดีกว่า แน่นอนมันย่อมเป็นกุศลแก่ตัวเขาเอง และการที่พวกเจ้าเลือกถือศิลอดนั้น ย่อมเป็นการดีแก่พวกเจ้าเอง” บทอัลบะกอเราะฮ์โองการที่ 184
     และต่อมาภายหลังเมื่อประชาชนมีความพร้อมและสามารถถือศิลอดได้เป็นปกติ แล้ว จึงกำหนดให้ถือศิลอดเพียงประการเดียว และไม่อนุโลมให้เลือกปฏิบัติเช่นแต่เดิม อัลลอฮ์ทรงมีรับสั่งอีกครั้งว่า
          “ดังนั้นเมื่อผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าสู่เดือนนั้นแล้ว(คือเข้า เดือนรอมฎอน) เขาจงถือศิลอดเดือนนั้นเถิด” จากบทอัลบะกอเราะฮ์โองการที่ 185
หลักเกณฑ์การกำหนดเริ่มเข้าเดือนรอมฎอน
     มาตรฐานการกำหนดเริ่มต้นเดือนรอมฏอน(และเดือนอื่นๆด้วย) ในระบบอิสลามนั้นให้พิจารณาจากผลการเห็นเดือนฮิลาล(เดือนเสี้ยวข้างขึ้น) ในค่ำของวันที่ 30 เดือนชะอ์บาน หากไม่ปรากฏว่ามีการเห็นเดือนฮิลาลด้วยสาเหตุทางภูมิอากาศ เช่น ฟ้าปิดเป็นต้น หรืออื่นๆ ให้ใช้เกณฑ์การนับเดือนชะอ์บานต่อให้ครบ 30 วัน จากนั้นให้นับวันต่อมาเป็นวันที่หนึ่งของเดือนรอมฎอนเลย นี่คือเกณฑ์มาตรฐานที่นักวิชาการอิสลามทุกยุคสมัย ตั้งแต่ยุคท่านรอซูลุลลอฮ์ ,ซอฮาบะฮ์,ตาบิอีนและสลัฟ ซอและห์ในยุคสมัยต่อๆ มา
     กรณีการเห็นเดือนฮิลาลนั้นให้ถือว่ามีผลต่อการกำหนด เริ่มต้นเดือนรอมฎอน เมื่อผู้เห็นนั้นเป็นไว้เนื้อเชื่อใจได้ แม้เพียงคนเดียวก็ตาม ซึ่งต่างกับการกำหนดสิ้นเดือนรอมฎอนและเริ่มเดือนเชาวาล นักวิชาการเห็นชอบเหมือนกันว่าไม่สามารถรับฟังการเห็นเดือนจากคนเพียงคน เดียวได้ในกรณีสิ้นเดืนรอมฎอน นอกจากต้องได้รับการรับรองจากชายที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้อีก 2 คน ร่วมยืนยันการเห็นเดือนฮิลาล
     คุณลักษณะของผู้ยืนยันการเห็นดวงจันทร์ หรือเดือนเสี้ยว เพื่อให้มีผลต่อการกำหนดเข้าและออกเดือนไว้ว่า ผู้เห็นจะต้องเป็นมุสลิม, บรรลุศาสนภาวะแล้ว, มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เยี่ยงปกติชนทั่วไป, และเป็นผู้ที่มีคำพูดคำจาที่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ และต้องมีสายตาปกติดีไม่มีปัญหา ดังนั้นข่าวการเห็นดวงจันทร์จึงไม่สามารถรับฟังได้จากบุคคลต่อไปนี้ (1)เด็กเล็กยังไม่บรรลุศาสนภาวะ แม้จะรู้เดียงสาบ้างแล้วก็ตาม (2)คนบ้า,คนวิกลจริต,คนขาดสติ,คนเมาและผู้ที่มีลักษณะใกล้เคียง (3)คนกาเฟร หรือคนต่างศาสนา (4)คนชั่วที่ชอบโกหกพกลมปลิ้นปล้อนพูดจาไม่อยู่ในร่องในรอยกลับกลอกไปมา และ(5)คนตาบอดหรือมีสายตาไม่ปกติฝ้าฟางไม่สามารถมองเห็นได้ เช่นปกติชนทั่วไป
     เมื่อมีการเห็นดวงจันทร์ผู้เห็นด้วยตัวเองต้องถือศิลอดทันที ส่วนผู้ที่รับทราบการยืนยันการเห็นดวงจันทร์ ผู้รับทราบการเห็นต้องถือศิลอด ตามการเห็นนั้นๆ ทันทีด้วยเช่นกัน โดยไม่ต้องยึดถือเรื่องเขตแดน, ภูมิประเทศ(มัฏละอฺ) หรือการคำนวณตามหลักดาราศาสตร์หรืออื่นใดทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะท่านรอซูลลุลลอฮ์ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้แล้ว คือ (1)ด้วยการเห็นดวงจันทร์ และ(2)ด้วยการนับเดือนเก่าให้ครบสำหรับกรณีไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์เท่า นั้น ไม่อนุญาตให้ยึดถือเกณฑ์อื่นๆ เช่นเกณฑ์การคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นมาตรฐานโดยเด็ดขาด

ความประเสริฐของเดือนรอมฎอน
     รอมฎอนเป็นเดือนแห่งความดีและความจำเริญ ซึ่งอัลลอฮฺ มอบให้โดยเฉพาะสำหรับเดือนนี้ ด้วยคุณประโยชน์อันมากมาย และชัดแจ้งดังต่อไปนี้
     1. เดือนแห่งอัลกุรอาน
     อัลลอฮฺ ทรงประทานคัมภีร์อันทรงเกียรติของพระองค์มาเพื่อเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แก่มวลมนุษย์ ละเป็นการเยียวยาบำบัด สำหรับบรรดามุอฺมินผู้ศรัทธา และเป็นการชี้นำไปสู่แนวทางที่เที่ยงตรงยิ่ง และชี้แนะแนวทางแห่งการมีจิตสำนึก และความรับผิดชอบ
     2. เป็นเวลาที่ประตูสวรรค์ถูกเปิด และประตูนรกถูกปิด และบรรดาชัยฏอนจะถูกพันธนาการเป็นพิเศษ
     ในเดือนอันศิริมงคลนี้ความชั่วต่างๆ จะลดน้อยลงในแผ่นดิน โดยที่บรรดาหัวหน้าชัยฏอนจะถูกล่ามโซ่ และถูกพันธนาการ ดังนั้นพวกมันจะไม่มีช่องทางที่จะล่อลวงหรือชักชวนมนุษย์ให้กระทำความผิด หรือความชั่วได้ เพราะบรรดามุสลิมกำลังมีภารกิจอยู่กับการถือศีลอด ซึ่งจะขจัดหรือปราบปรามความใคร่ต่างๆ ให้หมดสิ้นไปด้วยการอ่านอัลกุรอาน และการทำอิบาดะฮฺชนิดต่างๆ ซึ่งจะอบรมและขัดเกลาจิตใจ
     3. เป็นเวลาที่อัลลอฮฺทรงให้โอกาสอย่างกว้างขวางแก่ผู้ศรัทธาในอันที่จะได้รับ ความอภัยโทษจากพระองค์ ซึ่งผู้ใดที่จะแสวงหาความเมตตาในเวลาอื่น โอกาสที่จะได้รับการตอบรับก็จะน้อยลง
     4. เป็นเวลาที่อัลลอฮฺจะทรงให้อภัยโทษต่อความผิดทั้งหลาย ผู้ใดถือศีลอดในเดือนรอมฎอนด้วยความศรัทธา และด้วยความหวังในผลบุญ เขาจะรับความอภัยโทษต่อความผิดของเขาที่ทำมาตลอดอดีต

เดือนรอมฎอนในมุมมองของสังคม
     การถือศีลอดเดือนรอมฎอนตามบัญญัติอิสลาม เป็นอิบาดะฮฺที่ต้องมีการปฏิบัติในประชา- ชาติอิสลามโดยพร้อมเพรียงกัน เพราะต้องปฏิบัติในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งตลอดปีมีเพียงเดือนเดียว ดังนั้น เราต้องตระหนักถึงความเป็นปึกแผ่นของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งอัลลอฮฺ ตรัสไว้ความว่า
          “เดือนรอมฎอนนั้นเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา ในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้นเถิด”
     จะสังเกตได้ว่าในทางที่พระองค์ทรงประทานแก่มนุษยชาติในเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นการยืนยันว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้น เป็นการแสดงความเคารพภักดี และขอบพระคุณในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงประทานลงมาซึ่งอัลกุรอาน ธรรมนูญแห่งชีวิตของผู้ศรัทธา อนึ่ง การบัญญัติให้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเปรียบเสมือนการเฉลิมฉลอง หรือเป็นการประกาศความตระหนักในพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นการยืนยันในคำสัตยาบันปีละหนึ่งครั้ง เพื่อแสดงความเป็นบ่าวและความเป็นผู้เชื่อฟังในพระบัญชาของอัลลอฮฺ
     จากเหตุผลข้างต้น เดือนรอมฎอนจึงเป็นเทศกาลอันยิ่งใหญ่ ที่สังคมควรใช้โอกาสนี้เพื่อฟื้นฟูหลักการอิสลามและจริยธรรมของผู้ศรัทธาให้ ครบถ้วน เพราะเดือนรอมฎอนจะมีเอกลักษณ์ที่เด่นชัดจากบรรดาเดือนต่างๆ ประชาชาติอิสลามจะมุ่งมั่นปฏิบัติอิบาดะฮฺในเดือนนี้ อันเป็นสภาพที่จะทำให้สังคมมีความเข้มแข็งในด้านศีลธรรม ดังนั้น มุสลิมทุกคนจึงต้องคำนึงถึงบุญคุณอันใหญ่หลวงของเดือนรอมฎอน ซึ่งมีอิทธิพลอันกว้างขวางในการสร้างบรรยากาศที่สง่างามต่อชีวิตของมุสลิม
     ปัจจุบันนี้ เราเห็นประชาชาติอัลอิสลามไม่ให้ความสำคัญนักต่อเดือนรอมฎอน ไม่มีการเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อต้อนรับเดือนรอมฎอนล่วงหน้า ครั้นเมื่อเดือนรอมฎอนมาถึงภารกิจของสังคมโดยทั่วไปก็จะมุ่งมั่นในการทำสิ่ง ที่เป็นธรรมเนียมประเพณีของบรรพบุรุษ ที่เคยกระทำในเดือนนี้ โดยมิได้ระลึกถึงจิตวิญญาณ และเป้าหมายของกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติในเดือนรอมฎอน ผลบุญ หรือประโยชน์ของเดือนรอมฎอนก็ย่อมจะสลายไปตามพฤติกรรมที่ปราศจากความ บริสุทธิ์ ความศรัทธา และความหวังในผลบุญ
     ดังนั้น จึงขอนำเสนอวิถีทางในการต้อนรับเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นช่วยให้ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม และเพื่อให้เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีคุณประโยชน์ต่อชีวิตของเราอย่างแท้ จริง

วิธีต้อนรับเดือนรอมฎอน
     วิธีที่ 1 แสดงความปลื้มใจเนื่องในโอกาสต้อนรับเดือนรอมฎอน(إظهار السُّرُوْرُ)
     ต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วยการแสดงความ ยินดี ความปลื้มใจ แต่สำหรับผู้ที่มีอีมานอ่อนแอ รักใคร่ความชั่ว ย่อมจะเสียใจเมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอน เพราะเป็นเวลาที่พวกเขาจะรังเกียจ เนื่องจากเป็นอุปสรรคมิให้พวกเขากระทำความชั่ว อาทิเช่น ผู้ที่ติดอบายมุขและไม่สามารถเลิกได้ ก็จะเห็นเดือนรอมฎอนเป็นเวลาแห่งความทรมาน หรือเป็นสิ่งที่ขัดขวางทำลายความสุขของเขา เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องปรับจิตใจ ขัดเกลาอารมณ์ใฝ่ต่ำของพวกเขา และตระหนักในโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงประทานมาในเดือนรอมฎอน เพื่อแสวงหาความอภัยโทษ และฉวยโอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาให้อยู่ภายใต้ร่มเงาของอิสลาม
     วิธีที่ 2 การขอบคุณและตั้งใจทำความดีในเดือนรอมฎอน(الشُّكْرُ وَالعَزِيْمَةُ عَلَى الطَّاعَةٍ فِيْ رَمَضَان)
     ต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์อัลลอฮฺ ทรงโปรดประทานชีวิตและสุขภาพที่ดีจนมีโอกาสเข้าสู่เดือนรอมฎอนและทำอิบาดะ ฮฺอีกปีหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเกียรติอันล้ำค่าที่บ่าวของพระองค์ได้รับโอกาส ถวายความดีในเดือนอันประเสริฐนี้ อิมามนะวะวียฺกล่าวว่า พึงทราบเถิดว่า เป็นสิ่งที่ชอบให้กระทำสำหรับทุกคน เมื่อได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ให้สุญูดเพื่อขอบคุณพระองค์หรือสรรเสริญต่อพระองค์ การที่เราได้รับโอกาสถือศีลอดเดือนรอมฎอนอีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่ควรขอบคุณอัลลอฮฺ ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมกับเนียะมะฮฺนี้ สำรวมตนทั้งคำพูดและการกระทำ
     วิธีที่ 3 การวิงวอน(ดุอาอฺ)(الدُّعَاءُ)
     การวิงวอน(ดุอาอฺ)ต่ออัลลอฮฺ ให้เรามีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติอิบาดะฮฺในเดือนรอมฎอนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสุขภาพพลานามัยอันสมบูรณ์
     วิธีที่ 4 การกลับเนื้อกลับตัว(التَّوْبَة)
     การต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วยความตั้งใจที่จะออกห่าง และละทิ้งความผิดทุกชนิด พร้อมทั้งกลับเนื้อกลับตัวอย่างบริสุทธิ์ใจ เพราะบรรดาผู้ศรัทธามีหน้าที่ต้องเตาบัต(กลับเนื้อกลับตัว)ในทุกเวลาอยู่ แล้ว เมื่อถึงเดือนรอมฎอนก็เป็นโอกาสทองที่เราต้องเตาบัตตัว เพราะถ้าหากไม่สามารถกลับเนื้อกลับตัวในเดือนนี้แล้ว เมื่อไหร่เล่าจะกลับเนื้อกลับตัว
     วิธีที่ 5 การศึกษาวิธีถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม(مُدَارَسَةُ أَحْكَامِ الصِّيَام)
     ต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วยการศึกษาแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการถือศีลอด และปัญหาที่เกี่ยวข้องที่อาจเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นการเตรียมตัวปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างถูกต้อง เพราะเราถูกใช้ให้ถามผู้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกๆ คน ที่ต้องเอาใจใส่ความรู้ในเรื่องนี้ อย่าถือว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะผลกระทบจากการที่ไม่รู้หลักการของการถือศีลอดนั้น อาจทำให้สูญเสียซึ่งผลบุญที่เรามุ่งมั่นแสวงหาอย่างขะมักเขม้น จึงทำให้พวกเราขาดทุนโดยไม่รู้สึกตัว
     วิธีที่ 6 เผยแผ่ความดีงามและคุณธรรมแห่งเดือนรอมฎอน(الدَّعْوَةُ إِلَى الخَيْرِ فِيْ رَمَضَان)
     เผยแผ่ความดีงามและคุณธรรมแห่งเดือนรอมฎอน ให้คนใกล้เคียงมีส่วนร่วมในการทำความดี เช่น เชิญชวนละหมาดมัสยิดทุกเวลา ละหมาดตะรอเวียะฮฺทุกคืน บริจาคทานทุกวัน อ่านอัลกุรอานให้มากๆ ระงับอารมณ์ให้หนักแน่น จัดบรรยายหรือนะศีหะฮฺ แบบสั้นๆ เล็กๆ น้อยๆ สำหรับครอบครัว ญาติมิตรและเพื่อนฝูง ซึ่งจะสร้างบรรยากาศอันสวยงามในสังคมของเรา
     วิธีที่ 7 ปลุกจิตสำนึกต่อความทุกข์ของประชาชาติอิสลาม(مُشَارَكَةُ المُسْلِمِيْنَ في آلامِهِم)
     ผู้ศรัทธาควรต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วยจิตสำนึกที่เลื่อมใสต่อประชาชาติ อิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเห็นพี่น้องมุสลิมที่กำลังประสบความทุกข์ ให้เราร่วมความรู้สึกกับเขาในสิ่งที่เขากำลังประสบอยู่ ให้มีความห่วงใยต่ออนาคตของประชาชาติอิสลามทั้งมวล เพราะวันนี้สังคมมุสลิมทุกท้องที่อยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงมาก ทั้งในด้านศาสนา การปกครอง สังคม มารยาทจริยธรรม ครอบครัว และอื่นๆ มุสลิมทุกคนต้องรู้สึกรับผิดชอบระดับหนึ่งต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการ แก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมของเรา อย่ามองว่าหน้าที่ของเราในเดือนรอมฎอนคือการถือศีลอด แล้วความรับผิดชอบจะสิ้นสุดแค่นี้ เราต้องตระหนักว่า เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความห่วงใยต่อพี่น้องมุสลิมทั้งปวง
การดูแลสุขภาพช่วงเดือนรอมฎอน
     มีข้อกังขาสงสัยสำหรับพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในด้านสุขภาพว่า เพราะความเป็นมุสลิมใช่ไหม ที่ทำให้มีค่านิยม ความเชื่อแบบผิดๆ จนนำไปสู่การมีสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการตายของแม่และเด็ก การติดเชื้อโรคที่สามารถป้องกันได้ เช่น โรคหัด โปลิโอ คางทูม เป็นต้น อัตราการเกิดฟันผุในนักเรียนก็สูงมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิต เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคตับแข็ง โรคเอดส์ เป็นต้น การสูบบุหรี่ เสพยาเพสติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ต้องห้ามในศาสนาอิสลามและเป็นบาปใหญ่ แต่ปรากฏว่า เยาวชนมุสลิมนั้นติดบุหรี่ในอัตราค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ยาเสพติดแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะเราเป็นมุสลิมตามบรรพบุรุษตามสำมะโนครัว ไม่ใช่เป็นมุสลิมตามที่อิสลามต้องการให้เราเป็นใช่หรือไม่ ดังนั้นหลักการอิสลาม 5 ประการ ที่เป็นหลักปฏิบัติที่เราท่องจำมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในด้านปัจเจกชนและวิถีสังคมแต่อย่างใด หรือ
     ถ้าหากเราให้ความเป็นธรรมต่ออิสลาม ซึ่งถือว่าอิสลามเป็นมากกว่าศาสนา แต่อิสลามเป็นวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน บทบัญญัติข้อแรกเรื่องการปฏิญาณตนซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่อง เฉพาะตัว หรือปัจเจกบุคคล บทบัญญัติอื่นๆ เช่น การละหมาด การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน การจ่ายทรัพย์ภาคบังคับ(ซะกาต) การไปแสวงบุญที่นครมักกะฮฺ ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่มีผลต่อทั้งปัจเจกชนและขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมๆกัน
     เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดในรอบปี เหมือนเป็นเดือนที่เจริญสมาธิและจำศีลในศาสนา เพียงแต่เดือนรอมฎอนนั้น มุสลิมยังคงทำงานตามปกติในเวลากลางวัน ขณะที่อดอาหารอยู่ แต่จะเพิ่มความเข้มข้นของการประกอบศาสนกิจในยามค่ำคืน และส่งเสริมให้ปลีกวิเวก(เอียะตีกาฟ) ถ้าทำได้ โดยเฉพาะในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ดังนั้นเดือนรอมฎอนจึงเป็นเดือนแห่งการซ่อมสุขภาพและหัวใจครั้งใหญ่ ในเดือนรอมฎอนของทุกปี อิสลามได้บังคับ(วาญิบ) ให้มุสลิมทุกคนที่มีความสามารถ ตั้งแต่บรรลุศาสนภาวะจนถึงวัยชราต้องถือศีลอด
     การถือศีลอดตามเจตนารมณ์นั้นมิได้เป็นเพียงการอดอาหารเพื่อล้างสารพิษ ทางร่างกายเท่านั้น แต่มีผลต่อร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ(ตักวา) ดังนั้นการถือศีลอดที่จะได้ภาคผลเต็มที่จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
     1. การถือศีลอดเพื่อให้มีผลต่อการยกระดับจิตวิญญาณ ต้องตั้งเจตนาการกระทำทุกอย่างเพื่อพระผู้เป็นเจ้า การถือศีลอดเพื่อแสวงหาความยำเกรง ไม่ควรเจตนาว่าถือศีลอดเพื่อลดน้ำหนัก หรือเพราะเป็นประเพณีที่ต้องทำ เช่น ถือศีลอดแต่ไม่ได้ละหมาดหรือจ่ายซะกาต เป็นต้น
     2. การถือศีลอดเพื่อให้มีผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจ ถือว่าเป็นวัตถุประสงค์รอง เพราะฉะนั้นการถือศีลอดที่มีผลต่อสุขภาพ ควรจะมีองค์ประกอบดังนี้
          ก. การถือศีลอดที่จะต้องตื่นรับประทานอาหารตอนหัวรุ่งเพื่อจะไม่ให้ปเนการทรมาน ตนเอง เพราะถ้าไม่ตื่นรับประทานอาหารตอนหัวรุ่ง น้ำตาลจะลดต่ำมากในภาคบ่าย จนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรืออาจจะทำให้อ่อนเพลียนอนหลับทั้งวันจนเลยเวลาละหมาดก็เป็นได้
          ข. ไม่ควรละศีลอดด้วยอาหารคาวหวาน ดังเช่นทำในปัจจุบัน เนื่องจากทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารตามปกติ เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ เช่น เบาหวาน โรคกระเพาะอาหารพิการ เป็นต้น
          ค. ควรร่วมละหมาดอิชาอฺ และตะรอเวียะฮฺ เพื่อให้เวลาสำหรับอาหารย่อยก่อนเข้านอน ป้องกันโรคกรดไหลย้อนกลับ ควรรีบเข้านอนหลังตะรอเวียะฮฺ ไม่ควรมัวแต่คุย ดื่มน้ำชากาแฟ เพราะจะทำให้นอนไม่หลับ อาจเป็นเหตุให้ไม่ตื่นรับประทานอาหารตอนหัวรุ่ง หรือละหมาดซุบฮฺ และทำให้ต้องนอน ในช่วงกลางวันมาก จนขัดขวางการทำงานตามปกติด้วย
          ง. ควรฝึกฝนให้เยาวชนตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป ฝึกถือศีลอดครึ่งวันหรือถ้าเกิน 10 ขวบ ก็สามารถถือศีลอดเต็มวันเพื่อเป็นการเตรียมตัวเด็กให้เคยชิน กับบรรยากาศการถือศีลอด
          จ. ผู้ที่มีโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ในเรื่องการเปลี่ยนมื้อยา หรือขนาดของยา แต่ถ้ามีโรคบางโรคที่เป็นข้อห้ามของการถือศีลอด เช่น เบาหวานชนิดรุนแรง(ใช้อินซูลินฉีด) หรือโรคลมชัก หรือโรคจิตที่ต้องกินยาบ่อยๆ เป็นต้น ควรจะต้องปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด
     3. การถือศีลอดเพื่อให้มีผลต่อการขับเคลื่อนสังคม ควรจะรณรงค์ให้สังคมมุสลิมร่วมในการบริจาคทรัพย์สิน เพื่อก่อตั้งกองทุนจิตอาสาช่วยเหลือคนจน ให้เขาได้มีโอกาสได้ถือศีลอดเช่นกัน เพราะคนโดยทั่วไปต้องทำงานหนัก เป็นกรรมกร อาจะถือศีลอดไม่ไหว ถ้ายังมีเหลืออีก สามารถรวมเป็นกองทุน ไปช่วยเหลือชาวโลกที่ยากจนได้

อ้างอิงข้อมูล
www.moradokislam.org
www.islaminthailand.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น